วันพุธที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

Seven Goals for the Design of Constructivist Learning Evnironments

เป้าหมายของการออกแบบสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้

     การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในปัจจุบัน  เป็นการจัดกิจกรรมที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญโดยมุ่งเน้นให้ผู้เรียนสามารถแสวงหาความรู้  และพัฒนาความรู้ได้ตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพของตนเอง ในการจัดกิจกรรมเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการสร้างกระบวนการเรียนรู้จึงเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นสิ่งแวดล้อมทางการเรียนรู้จึงเป็นส่วนที่ส่งผลต่อผู้เรียนในการสร้างองค์ความรู้ สิ่งแวดล้อมการเรียนรู้หมายถึง สิ่งต่างๆ สภาพแวดล้อมที่อยู่รอบๆ ตัวผู้เรียน ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม โดยจะส่งผลต่อผู้เรียนทั้งทางบวกและทางลบ และมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลการเรียนรู้ของผู้เรียน ในที่นี้ขอกล่าวถึงแนวความคิดของสิ่งแวดล้อมทางการเรียนรู้ตามแนวทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ หมายถึง  “place” สถานที่ เช่น ในห้องเรียน หรือ “space” พื้นที่ บริเวณที่เกิดการเรียนรู้ อาจเป็นสถานที่หรือสื่อการเรียนในระบบออนไลน์ก็ได้ รวมถึงต้องประกอบด้วย “learner” ผู้เรียน “setting and organize” การจัดเตรียมต่างๆ ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ การออกแบบสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้จึงเป็นสิ่งสำคัญ
          การเรียนรู้ตามแนวทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ ผู้เรียนจะเกิดการเรียนรู้จากกระบวนการลงมือทำ (Active Process) ที่เกิดขึ้นในแต่ละบุคคล และความรู้ต่างจะถูกสร้างขึ้นด้วยตัวของผู้เรียนเอง โดยใช้ข้อมูลที่ได้รับมาใหม่ร่วมกับข้อมูลหรือความรู้เดิมที่มีอยู่แล้ว รวมทั้งประสบการณ์เดิมมาสร้างเป็นองค์ความรู้ในตนเอง การออกแบบสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ตามแนวคอนสตรัคติวิสต์โดยอาศัยเป้าหมายของศาสตร์การสอนทั้ง 7 ประการ คือ
  1. จัดเตรียมประสบการณ์ด้วยกระบวนการสร้างความรู้ ผู้เรียนจะต้องรับผิดชอบสำหรับการกำหนดหัวข้อเรื่องในการเรียนรู้ วิธีการที่จะเรียนรู้ และกลยุทธ์หรือวิธีการสำหรับการแก้ปัญหา โดยที่ผู้สอนมีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือกระบวนการต่างๆ
  2. จัดประสบการณ์และเห็นคุณค่าในมุมมองที่หลากหลาย ในความเป็นจริงเมื่อเกิดปัญหาใดๆขึ้น เราไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยวิธีการเดียว แต่จะมีวิธีการที่หลากหลายที่สามารถคิดและแก้ปัญหาได้ ดังนั้นนักเรียนต้องเข้าร่วมกิจกรรมที่จะกระตุ้นให้ตนเองมีการประเมินทางเลือกในการแก้ปัญหา อาจเป็นวิธีการที่เป็นการทดสอบและเพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจให้สมบูรณ์
  3. การจดจำการเรียนรู้ในบริบทตามสภาพจริงและสิ่งที่เกี่ยวข้อง การเรียนรู้ทั้งหมดเกิดขึ้นในบริบทของโรงเรียน ซึ่งปัญหาที่ผู้เรียนพบในชีวิตจริงจะไม่ค่อยได้พบในบทเรียน ผลของการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจะเป็นการลดความสามารถของผู้เรียนในการถ่ายโอนความรู้ไปสู่การใช้จริงในชีวิตประจำวัน ผู้ออกแบบกิจกรรมต้องคำนึงถึงบริบทตามสภาพจริงของกิจกรรมการเรียนรู้ ต้องตั้งปัญหาบนรากฐานความเป็นจริงของตัวผู้เรียน และบริบทโดยรอบ ผู้เรียนต้องเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาให้ได้ถึงแก่นแท้ของตัวปัญหา
  4. สนับสนุนความเป็นเจ้าของ และแสดงความเห็นในกระบวนการเรียนรู้ ต้องแสดงให้เห็นว่าผู้เรียนเป็นสิ่งสำคัญในการเรียนรู้แบบคอนสตรัคติวิสต์ มากกว่าที่ครูจะกำหนดเนื้อหาให้ผู้เรียน ผู้เรียนจะมีบทบาทที่สำคัญในการกำหนดประเด็นและทิศทาง เช่นเดียวกับเป้าหมายและวัตถุประสงค์ โดยที่ครูจะเป็นที่ปรึกษาคอยช่วยเหลือผู้เรียนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้
  5. จดจำการเรียนรู้ในประสบการณ์ด้านสังคม การพัฒนาทางด้านสติปัญญามีอิทธิพลมาจากการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ดังนั้นการเรียนรู้ควรจะมีการจัดกิจกรรมร่วมกันระหว่างครูกับผู้เรียน และระหว่างผู้เรียนกับผู้เรียน
  6. สนับสนุนการใช้รูปแบบของการนำเสนอที่หลากหลาย การสื่อสารทางคำพูดและการเขียน เป็นรูปแบบของการส่งผ่านความรู้แบบทั่วๆไป ในการจัดกิจกรรมการการเรียนรู้ที่อาศัยการสื่อสารรูปแบบดังกล่าว ทำให้ผู้เรียนมีข้อจำกัดเกี่ยวกับวิธีการที่ผู้เรียนจะเรียนรู้โลกกว้าง ดังนั้นจึงควรรับเอาวิธีการสื่อสารอื่นๆ เพิ่มขึ้น เช่น วิดีโอ คอมพิวเตอร์ ภาพและเสียง มาจัดในกิจกรรมการเรียนรู้
  7. สนับสนุนให้เกิดความตระหนักด้วยตนเองในกระบวนการสร้างความรู้ ตัวชี้วัดผลการเรียนจากการเรียนรู้ตามแนวคอนสตรัคติวิสต์ คือการรู้ว่าเราจะเรียนรู้อย่างไร ผู้เรียนสามารถอธิบายเหตุผลได้ว่า ทำไม หรืออย่างไรที่ผู้เรียนจะแก้ปัญหาได้ในวิธีที่ถูกต้อง เพื่อวิเคราะห์การสร้างความรู้และกระบวนการของผู้เรียน Cunningham et al. (1993) เรียกว่า “reflexivity” เป็นการขยายของ metacognition และกิจกรรมการไตร่ตรอง


          การออกแบบสิ่งแวดล้อมทางการเรียนรู้โดยหลักเพื่อมุ่งเน้นให้เกิดประโยชน์แก่ผู้เรียนเป็นสำคัญ เป้าหมายของการออกแบบตามแนวคอนสตรัคติวิสต์คือการจัดเตรียมและปลูกฝังให้ผู้เรียนได้มีความรู้คิดในการกำหนดสิ่งที่ต้องการเรียน วิธีการในการเรียนรู้ มองเห็นถึงคุณประโยชน์ที่จะนำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวัน โดยที่ต้องคำนึงถึงบริบทต่างๆ ที่เป็นจริงรอบตัว มีการสร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในด้านการเรียนรู้ ใช้การสื่อสารข้อมูลสารสนเทศที่หลากหลาย รู้ถึงเหตุผลและวิธีการในการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง

อ้างอิง
Brent G.Wilson. (1996). What Is a Constructivist Learning Environment?. Pp. 3-4.
Peter C.Honebein. (1996). Seven Goals for the Design of Constructivist Learning Environments. Pp. 11-12.
สุมาลี ชัยเจริญ. (2551). ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มคอนสตรัคติวิสต์ ใน เทคโนโลยีการศึกษา หลักการ ทฤษฎีสู่การปฏิบัติ. หน้า 101-102.
วิชิต เทพประสิทธิ์. (2552). การจัดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้. (ออนไลน์). สืบค้นจากhttp://www.l3nr.org/posts/314570. [15 พฤศจิกายน 2556].
รูปภาพจาก 
http://us.wacom.com/en/business-and-education/interests/education/k-12/learning-environments

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น